วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของส่วนราชการ

ความหมาย คือ เงินที่ผู้จ่ายเงินหักจากผู้ขายไว้เพื่อนำส่งกรมสรรพากร


ผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของภาครัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประมวลรัษฎากรได้กำหนดหน้าที่ให้ หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อจ่ายเิงินได้ให้แก่ผู้รับเงินได้ที่อยู่ในประเทศไทย 

ทำไมต้องหัก ณ ที่จ่าย กล่าวคือ
  1. เพื่อเป็นการบรรเทาภาระการเสียภาษีให้แก่ผู้รับเงินได้ ซึ่งจะได้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในคราวเดียวเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นรายการเสียภาษี แต่ให้เสียภาษีเป็นคราวๆไปตามจำนวนเงินที่ได้รับ
  2. เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เข้าคลังอย่างสม่ำเสมอ ทำให้รัฐบาลสามารถใช้จ่ายเงินในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้อย่างราบรื่น อันจะก่อให้เกิดสภาพคล่อง และลดภาวะการเงินตึงตัวในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
  3. เพื่อลดแรงกดดันในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และลดภาระหน้าที่ในการตรวจสอบภาษี หรือการติดตามการจัดเก็บภาษีในภายหลัง
หลักเกณฑ์การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการจัดซื้อจัดจ้าง

  • ซื้อหรือจ้างบุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไปหักร้อยละ 1 ของจำนวนเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการ ก่อนบวกภาษีมูลค่าเพิ่มและก่อนหักภาษีหรือค่าปรับอื่นใด
  • ซื้อหรือจ้างนิติบุคคล ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป หักร้อยละ 1 ของจำนวนเงินค่าสินค้าหรือบริการ ก่อนบวกภาษีมูลค่าเพิ่มหรือปรับอื่นใด
สถานศึกษาเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย ปฏิบัติดังนี้
  • ให้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการร้านค้า
  • สำหรับสำเนาหนังสือรับรองฯให้นำมาบันทึกรายการรับใน ทะเบียนคุมเงินนอกงบประมาณ ประเภท เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย
  • การนำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้นำส่งอำเภอท้องที่หรือสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงิน
  • หากไม่นำส่งภายในกำหนดเวลาผู้จ่ายเงินต้องรับผิดชอบชำระเงินเพิ่มเอง ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่นำส่ง และอาจได้รับโทษทางอาญาปรับไม่เกิน 2,000 บาท
สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีส่วนราชการเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างเป็นค่าสินค้าหรือบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มจะจ่ายได้เมื่อผู้ขาย/ผู้รับจ้างเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในอัตราร้อยละ 7
  • เป็นสินค้าหรือบริการที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • เป็นใบเสร็จรับเงินที่แสดงราคาสินค้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม และประทับคำว่าใบกำกับภาษี ถ้าไม่ประทับตราใบกำกับภาษีต้องแนบใบกำกับภาษี (แบบภพ.20)

1 ความคิดเห็น: